ลาวโซ่งหรือไทยดำ เป็นชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่ง ที่อพยพมาจากบริเวณสิบสองจุไทยทางเวียดนาม
เหนือมายังประเทศลาว จนกระทั่งสมัยกรุงธนบุรี ครั้งนั้นดินแดนสิบสองจุไทย จัดอยู่ในเมือประเทศราชของอาณาจักรสยาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมืองนั้นคราใดทางสยามก็จะยกทัพไปปราบและกวาดต้อน
ไทยดำพร้อมกับลาวในเวียงจันทน์และเมืองพวนมาอยู่ที่ธนบุรีและตามเมืองต่าง ๆ ถูกขนานนามว่า “ลาวทรงดำ” หรือ “ลาวโซ่ง” ปัจจุบันเรียก “ไทยทรงดำ” เนื่องจากแต่งกายชุดสีดำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไทยทรงดำไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาพวกเขาอยากกลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิม จึงคิดอพยพกลับขึ้นไป แต่กลับไปไม่ถึงเนื่องจากบรรพบุรุษค่อย ๆ ล้มหายตายจาก จึงทำให้ชุมชนไทยทรงดำกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แต่ที่หนาแน่นที่สุดคือที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลากว่า 200 ปี ในการดำเนินชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย จัดได้ว่าพวกเขาคือคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตแบบคนไทย และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา การแต่งกาย การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่สามัคคีกัน บนพื้นที่ที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากนัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำ ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ปีหนึ่งก็รอน้ำฝนอย่างเดียว ปีไหนฝนไม่ตกหรือฝนแล้ง ก็ต้องรอต่อไป ถึงแม้ว่าฝนจะแล้ง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต
ในชุมชนหมู่บ้านไทยทรงดำมีพื้นที่ประมาณ 4,540 ไร่ โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของหมู่บ้าน จะเป็นพื้นที่ในการทำการเกษตร การทำนาปลูกข้าวและมีคลองชลประทานเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่หมู่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1) ประเภทพื้นที่ทำการเพาะปลูก ประมาณ 2,708 ไร่ 2) ประเภทพื้นที่อยู่อาศัย ประมาณ 1,240 ไร่ 3) ประเภทพื้นที่สาธารณะ ประมาณ 592 ไร่
ลักษณะที่อยู่อาศัย การถือครองที่ดิน ด้วยชุมชนหมู่บ้านไทยทรงดำ เป็นชุมชนที่มีการเข้ามาตั้งรกรากอยู่เป็นเวลานานมากแล้วและเป็นชุมชนที่เก่าแก่มีการอนุญาตในการตั้งชุนชนมาแต่โบราณ ดังนั้นการถือครองที่ดินในชุมชนหมู่บ้านหนองปรง หมู่ที่ 4 จึงเป็นการถือครองที่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองเกือบทั้งหมดหมู่บ้าน ในการถือครองจะถือเอกสารสิทธิ์คือ “โฉนด” ซึ่งเป็นโฉนดที่ออกมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 6 โดยพระยาสุรินทรฤาไชย ซึ่งตกทอดมารุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน ในชุมชนหมู่บ้านไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง และหมู่บ้านใกล้เคียงก็เป็นไทยทรงดำทั้งหมดหมู่บ้าน ถ้าเราไม่ได้เข้าไปดูพื้นที่จริงอาจจะคิดว่าหมู่บ้าน “ไทยทรงดำ” จะเป็นที่อยู่ที่เป็นแบบเรือน “ไทยทรงดำ” ดังที่เราเคยเห็นตามรูปภาพจากหนังสือต่าง ๆ แต่ถ้าเราลงมาสัมผัสจากพื้นที่จริงแล้ว ไม่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่เป็นเรือน “ไทยทรงดำ” เลยแม้แต่หลังเดียว บ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบถาวรสากลโดยทั่วไป โดยบ้านเรือนจะสร้างเป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้บ้าง เป็นบ้านไม้สองชั้นบ้าง บางส่วนจะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง ซึ่งก็เหมือนกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยโดยทั่วๆ ไปหรือหมู่บ้านใกล้เคียง
วิถีชีวิตของชุมชนไทยทรงดำ
วิถีชีวิตของชุมชนไทยทรงดำมักจะอยู่ในที่ดอนมากกว่าในที่ลุ่ม เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก และการทำนาข้าวซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญของชาวไทยทรงดำ การดำเนินชีวิตเป็นแบบพอเพียง คุณป้าพาณีบอกว่า การทำนาของชุมชนไทยทรงดำจะทำนาปีละครั้ง เนื่องจากไม่มีแม่น้ำสายใดไหลผ่าน จึงต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ปีไหนฝนแล้ง ก็ไม่มีการทำนา คุณป้าหวันบอกว่า ปัจจุบันนิยมทำนาหว่านมากกว่า เนื่องจากนาดำค่าแรงแพง ตกวันละ 200 บาท นาหว่านได้ผลผลิตเยอะกว่านาดำ การใช้ปุ๋ยในอดีตใช้ปุ๋ยจากสัตว์ (โค กระบือ) แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีจะให้ผลผลิตมากกว่า และดีกว่า แต่จะทำให้ดินเสียเร็ว แต่ถ้าใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ จะให้ผลผลิตน้อยกว่า และคุณภาพด้อยกว่า แต่ทำให้ดินดีกว่า ว่างเว้นจากการทำนาก็ทำไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว พืชที่นิยมปลูก ได้แก่ แตงกวา ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น ก็จะเป็น โค กระบือ ไก่ และหมู
ในสมัยที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำของชุมชนได้ออกสำรวจเพื่อหาแหล่งทำเลที่ตั้งของหมู่บ้าน และไปเจอหนองน้ำที่ตาน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินอยู่ตลอดเวลา น้ำจะไม่มีวันหมด คือมีน้ำไหลตลอด และเพียงพอกับการใช้สอยของประชาชนที่อพยพมา นอกจากนั้นยังอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน และจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ใช้ ปัจจุบันยังมีน้ำประปาใช้ด้วย
คุณป้าหยอด บอกว่า ผู้หญิงไทยทรงดำในอดีตลำบากมาก ต้องทำงานสารพัดอย่าง พอหลังจากการดำนา หรือหว่านข้าวแล้ว ระหว่างรอเก็บเกี่ยว ต้องตื้นแต่เช้ามืด และออกจากบ้านเวลาประมาณตีห้าครึ่งเพื่อไปเก็บของป่ามาขาย ได้แก่ ยอดสะเดา ยอดกระถิน ขี้เหล็ก มะระ เก็บตามป่า หรือตามที่ต่าง ๆ ที่ขึ้นเอง ปัจจุบันยังคงมีเก็บอยู่ สามารถนำมาขายได้ประมาณวันละ 40 - 50 บาท มีคนไปเก็บเยอะ ถ้ามีรถก็ไปได้ไกลหน่อย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุไปเก็บ อายุประมาณ 70 ขึ้นไป แม้ลูกหลานจะห้าม แต่คุณป้าก็ไม่ฟัง คุณป้าบอกว่า ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ ได้ออกกำลังกายด้วย คุณป้า คุณยายในชุมชนไทยทรงดำดูแข็งแรง ร่าเริง
การประกอบอาชีพ
อาชีพที่ถือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านคือการประกอบอาชีพการทำนา เพราะด้วยการทำนา
ปลูกข้าวเป็นอาชีพหรือเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกับชาวไทยทรงดำโดยทั่วไป ในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเขาย้อยเป็นจำนวนมาก จึงมีการออกไปเป็นลูกจ้างอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมและบางส่วนก็ไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
อาชีพรองได้แก่การสานเข่ง ทอผ้า การรับจ้าง การกลึงไม้ตาล ซึ่งการกลึงไม้ตาลเป็นอาชีพที่ทำ
รายได้ให้แต่ละครัวเรือนพอสมควร บางครัวเรือนก็ยึดเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันได้มีการนำเอาไม้มะพร้าวมากลึงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่งขายและมีการทำอาชีพนี้กันหลายครัวเรือน เรื่องการใช้จ่ายในครอบครัว จะมีรายได้พอเพียงในการใช้จ่ายไม่เดือดร้อน เพราะไม่ค่อยมีหนี้สินมากนัก และมีเหลือจนสามารถเก็บออมได้
หลายครัวเรือน และมีครอบครัวที่ไม่พอใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ครอบครัวเกิดความเดือดร้อน
การแต่งกาย
ชุมชนไทยทรงดำนิยมแต่งกายด้วยชุดดำ ๆ ทอผ้า และตัดเย็บเสื้อผ้าใช้เอง ชาวไทยทรงดำ
จะใช้สีครามเข้มเกือบดำเป็นส่วนใหญ่เครื่องแต่งกายของไทยทรงดำแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องแต่งกายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องแต่งกายของไทยทรงดำที่ใช้ในโอกาสพิเศษ
ชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือ ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ หรือสีครามเข้มเรียกว่า “ส้วงขาเต้น” สวม
เสื้อแขนกระบอกยาวสีดำ รัดข้อมือ ผ่าหน้าตลอด เสื้อนี้จะมีกระดุมเงิน 21 เม็ด กระดุมที่ติดเสื้อจะต้องเป็นเลขคี่เสมอ และสำหรับผู้ชายจะต้องติดกระดุมให้ครบ 21 เม็ด เพราะถ้าติดไม่ครบก็จะถูกมองว่า แค่กระดุมยังติดไม่ครบและจะไปทำอะไรได้ ถ้าแต่งงานก็คงไม่มีปัญญาเลี้ยงครอบครัว สำหรับผู้หญิงนุ่งผ้าซิ้นสีดำหรือสีครามเข้ม มีลายขาวเป็นทางลงสลับดำ คล้ายลายแตงโม มีเซิงผ้าเป็นขอบขวาง กว้างประมาณ 2-3 นิ้ว และถ้าเป็นแม่ม่ายจะเอาเชิงออก สวมเสื้อแขนกระบอกแขนยาวสีดำรัดข้อมือ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงิน ประมาณ 9 – 11 เม็ด เรียกว่า “เสื้อก่อม”
ชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ผู้ชาย นุ่งกางเกงขายาวสีดำ เรียกว่า “ส้วงขาฮี” สวมเสื้อที่ใช้ในโอกาสพิเศษ
เรียกว่า “เสื้อฮี” ทำด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อยผ่าหน้าตลอดและยาวคลุมสะโพก ด้านข้างตัวเสื้อจะผ่าข้างขึ้นมาถึงเอว คอเสื้อเป็นคอกลม ติดคอ กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดง แล้วเดินเส้นทับด้วยไหมสีแสด สีเขียวและสีขาว ตรงคอเสื้อมีกระดุมติดคล้องไว้เม็ดหนึ่ง แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกยาว ปักตกแต่งรักแร้ และด้านข้างของตัวเสื้อด้วยเศษผ้าไหมสีต่างๆ พร้อมทั้งติดกระจกชิ้นเล็กๆ ตามลวดลายนี้อย่างสวยงาม เสื้อฮีสำหรับผู้หญิง ก็มีแต่ตัวใหญ่กว่าของผู้ชายมากคอด้านหน้าแหลมลึก ใช้สวมศีรษะ ปักตกแต่งด้านหน้าด้วยเศษผ้าไหมสีต่างๆ แขนเสื้อเป็นแขนกระบอก แขนสามส่วนนิยมปักตกแต่งปลายแขนเสื้อด้วยไหมสีแดง สีแสด สีเขียว และสีขาว
สำหรับทรงผมของไทยทรงดำ มีลักษณะแตกต่างกว่าชาติอื่น ๆ โลก จะไว้ยาวและเกล้าเป็นมวยทรงสูง ไว้ที่ท้ายทอย โดยมีทรงผมต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ทรงสับปลิ้น สำหรับสาวช่วงอายุ 15 ปี
- ทรงจุกต๊บ สำหรับสาวช่วงอายุ 16 ปี
- ทรงขอดกระต๊อก สำหรับสาวช่วงอายุ 17 ปี
- ทรงปั้นเกล้าซอย สำหรับสาวช่วงอายุ 18 - 19 ปี เป็นทรงสุดท้ายของสาวรุ่น
- ทรงปั้นเกล้าต่วง สำหรับสาวช่วงอายุ 20 ปี ขึ้นไป
- ทรงแม่หม้าย สำหรับผู้ที่สามีเสียชีวิตไปแล้ว
ความเชื่อและศาสนา
ชาวไทยทรงดำจะยึดมั่นในความเชื่อ เรื่องผี ควบคู่ไปกับความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ดังนั้นแนวทางในการปฏิบัติจึงมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างความเชื่อทั้งสอง อย่างแน่นแฟ้น ชาวไทยทรงดำยึดมั่นในเรื่องกฎแห่งกรรม อันเป็นหลักสำคัญทางพุทธศาสนา ผลของกรรมนั้นอาจปรากฏในชาตินี้หรือชาติหน้า ดังปรากฏในนิทานหลายเรื่อง เช่น เรื่องงูเหลือม แม้จะมิได้กล่าวอย่างชัดเจน แต่พฤติกรรมของตัวละคร เช่น นกเตนซิว ไอ้งูเหลือม ไอ้แมว ไอ้นกเจ่า ซึ่งพร้อมใจกันไว้วิดปลาในบ่อน้ำจนต้องประสบชะตากรรมต่าง ๆ กันไปในปั้นปลาย เช่น ไอ้แมวหักคอไอ้นกเจ่า ไอ้งูเหลือมถูกน้ำไหลท่วมกาย เป็นต้น
ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณมาก เช่น แถนหรือผีฟ้า ผีบรรพบุรุษ ผีประจำ
สถานที่ผีประจำตัวบุคคล ผี ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ผีประจำหมู่บ้าน ผีวัด เป็นต้น
แถนหรือผีฟ้า
ไทยทรงดำนับถือแถนหรือผีฟ้าเป็นผีสูงสุดเป็นผู้สร้างโลกและทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏใน
โลก ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ แสงแดด และสิ่งมีชีวิต ที่แบ่งเป็นมนุษย์เชื้อชาติต่าง ๆ ให้มีภาษาใช้แตกต่างกัน และกำหนดหน้าที่ของสัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไว้อีกด้วย ดังปรากฏในเพลงขับแปดมะเต้า นิทานประวัติไทยทรงดำ และนิทานเรื่องแถนสร้างโลก นอกจากนั้นนิทานเรื่องทำไมหมาจึงเยี่ยวรดกอหญ้า ทำไมคนจึงกินอาหารสามมื้อ ยังแสดงให้เห็นความเชื่อในเรื่องแถนว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดสร้างโลกและผู้กำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เช่นกัน
แนวคิดในเรื่องการขยายครอบครัว ชาวไทยทรงดำก็กล่าวเป็นเชิงสอนไว้ว่าแถนสั่งให้ “แผ่ลูกชาย
ขยายลูกเต้า” จากวรรณกรรมที่รวบรวมได้และการสังเกตสังคมชาวไทยทรงดำก็ปรากฏว่าให้ความสำคัญต่อบุตรชายมากกว่าบุตรสาว และนิยมมีบุตรหลายคน อาจจะเนื่องมาจากเชื่อฟังคำสั่งของแถนก็เป็นได้ นอกจากนั้นในยามทุกข์ยาก เช่น พ่อแม่เสียชีวิต ชาวไทยทรงดำจะต้องเงยหน้าสู่ฟ้าและกล่าวระบายความทุกข์ยากต่อแถนว่า "ต๊กเกิ๋นเล้ย หยะเกิ๋นเลยฟ้าเอ๊ย แถนเอ๊ย" (ทุกข์เหลือเกิน ยากเหลือเกิน ฟ้าเอ๋ย แถนเอ๋ย) ยึดถือเป็นประเพณีสืบมา
จากข้อห้ามคำสอน ได้กล่าวถึงบาป บุญ คุณ โทษ อันเป็นกฎแห่งกรรมไว้หลายประการ เช่น
- ทำดีจะขึ้นสวรรค์ ทำไม่ดีจะตกนรก
- ห้ามหญิงทำเสน่ห์เล่ห์กล จะทำให้ตกนรก
- ห้ามตีพ่อแม่ จะทำให้ตกนรก
- ห้ามด่าครูบาจารย์ ถือว่าเป็นบาปและไม่เจริญ
- ห้ามขี้ เยี่ยวในวัด ถือว่าบาป
- ห้ามนำวัว ควายไปเลี้ยงในวัดถือว่าบาป
- ห้ามนำดอกขี้แร้งขี้กาไปถวายพระ จะมีกลิ่นสาบ
- ห้ามดมดอกไม้ก่อนถวายพระ จะทำให้จมูกโตและโหว่
- ห้ามชายหญิงไปล่วงเกินกันในวัด จะทำให้เป็นหงิกง่อย
- ให้ถวายพระด้วยดอกไม้หอม ชาติหน้าจะเกิดมาสวยงามและมีกลิ่นหอม
- ตักบาตรร่วมขัน จะได้อยู่ด้วยกันในชาตินี้หรือชาติหน้า
- นอนกินข้าวชาติหน้าจะเกิดเป็นงูเหลือม
นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นความเชื่อที่สืบเนื่องจากศาสนาในเรื่องอื่น ๆ เช่น
- เชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ ในนิทานเรื่องแถนสร้างโลก
- เชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ เหมือนที่กล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วง
- เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ดังเช่นในนิทานเรื่อง นางสิบสองราหูอมจันทร์ และเพลงขับเรื่องพระยาฉัททันตี
และยังมีข้อห้ามคำสอน ที่เกี่ยวกับศาสนาอีกหลายประการ เช่น
- ห้ามควายไถนาในวันพระ ในนิทานเรื่องแถนสร้างโลก
- ถ้าฝันถึงคนที่ตายไปแล้ว ถือว่าคนตายนั้นมาขอส่วนบุญ
- พระมาที่บ้านถือว่าดี
- กล่าวกิจวัตรของสงฆ์คือการบิณฑบาต ในปริศนาความทายว่า ไม่เปิดซุบ ปิดซับ ไปซิบ" (พระบิณฑบาต)
ผีบรรพบุรุษ
นอกจากแถนแล้วชาวไทยทรงดำยังยึดมั่นในผีบรรพบุรุษ ซึ่งถือว่า มาคุ้มครองปกปักษ์รักษาอยู่ใน
บ้านเรือนที่อาศัย เรียกว่า "ผีเฮือน" จึงมีประเพณีเสนเฮือน เวนตง ดังปรากฏในนิทานต๊าวปะขม หีตทั้ง 12 เดือน ได้กล่าวไว้ว่า
- เดือนสามให้ทำข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวปิ้งชุบน้ำผึ้งให้ผีเรือน
- เดือนหกถึงเดือนแปด ทำพิธีเสนเฮือน ก่อนเข้าพรรษาแล้วหยุด จะทำพิธีเสนเฮือนได้อีกในเดือน
สิบเอ็ดถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง จึงเป็นอันหมดวาระการเสนเฮือนในปีนั้น
- เดือนอ้ายถึงเดือนยี่ เริ่มนำข้าวใหม่มาไหว้ผีเรือน เรียกว่า ป้าตง จนเกี่ยวข้าวเสร็จก็เป็นอันหมด
วาระเช่นกัน
ในข้อห้ามคำสอน ได้กล่าวถึงความสำคัญของผีเรือนที่มีต่อชาวไทยทรงดำไว้หลายประการด้วยกัน
เช่น มีการขอขมาผีเรือน เมื่อได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดผีเรือน ได้แก่
- ชายและหญิง ล่วงเกินกันมากกว่าการจับมือถือแขน
- ชายและหญิง หนีตามกันไปโดยไม่ได้สู่ขอต่อพ่อและแม่
- คนหรือสัตว์เข้ามาในบริเวณบ้านโดยมิได้บอกกล่าวผีเรือนให้ทราบ
นอกจากข้อห้ามคำสอนดังกล่าวแล้ว ยังมีแนวปฏิบัติต่อผีเรือนหลายอย่างด้วยกัน เช่น
- ห้ามใส่หมวกเข้าห้องผีเรือน
- สร้างบ้านใหม่ต้องเชิญผีเรือนขึ้นบ้านใหม่ด้วย
- ต้องเคารพกราบไหว้บูชาผีเรือนเป็นประจำทุกวัน
ผีประจำสถานที่
นอกจากผีต่าง ๆ ที่กล่ามาแล้ว ชาวไทยทรงดำยังเชื่อว่ามีผีประจำอยู่ที่ต่าง ๆ ของบ้านเรือน เช่น
- ผีบันได มีข้อห้ามคำสอนเกี่ยวกับบันไดว่า ห้ามเล่นบันได มิให้ใช้ของมีคมฟันบันได และห้ามนั่ง
คาบันได เพราะเชื่อว่ามีผีประจำอยู่ อาจทำให้เกิดเหตุร้ายต่อผู้กระทำหรือครอบครัวได้ และในพิธีเสนเฮือน ซึ่งมีการฆ่าหมูทำอาหารประกอบในพิธี ต้องนำเลือดหมูสด ๆ มาทาที่บันไดเป็นการบูชาผีบันไดอีกด้วย
- ผีแม่ธรณี มีข้อห้ามว่า มิให้ตำจนครกแตก มิฉะนั้นจะถูกผีแม่ธรณีสูบ ต้องเคารพกราบไหว้บูชาผี
แม่ธรณี และห้ามเหยียบธรณีประตูเพราะถือว่ามีผีแม่ธรณีประจำอยู่
- ผีเตาไฟ มีข้อห้ามว่า ห้ามแม่เตาไฟจะทำให้เดือดร้อน
- ผีกะล่อมข้าวชาวไทยทรงดำเชื่อว่ามีผีประจำกะล่อมข้าวจึงมีคำสอนให้กราบไหว้บูชาผีกะล่อมข้าว
- ผีเจ้าที่เจ้าทาง คือศาลพระภูมิ ปรากฏในคำทำนายฝันของชาวไทยทรงดำว่าถ้าฝันเห็นพระสงฆ์
ทายว่าน้ำที่ถวายศาลพระภูมิแห้ง
ผีประจำตัวบุคคล ได้แก่
- ผีแม่ซื้อ มีข้อห้ามว่ามิให้ไกวเปลเปล่า ๆ เด็กจะตกใจ แม่ซื้อจะหนีหาย
- ผีขวัญมีข้อห้ามว่ามิให้สระผมในเวลาตะวันตกดินแล้วถือว่าผีขวัญจะตกใจจะทำให้ผู้กระทำเป็นไข้
ผีที่เกี่ยวกับการเกษตร ได้แก่
- ผีนา เวลาข้าวตั้งท้องต้องบอกกล่าวแก่ผีนาเพื่อให้ช่วยคุ้มครองข้าวให้เติบโตดี และมีการเซ่นผีนา
ก่อนเกี่ยวข้าว เป็นการตอบแทนบุญคุณผีนาที่ได้ช่วยให้ผลิตผลข้าวอุดมสมบูรณ์ ไม่เสียหาย
- แม่โพสพ ถือว่าเป็นผีประจำเมล็ดข้าว มีข้อห้ามว่ามิให้นอนหน้ากะล่อมข้าว เป็นการขวางทางเดิน
ของแม่โพสพ ห้ามใส่รองเท้าเข้าไปในลานนวดข้าว เพราะแม่โพสพจะไม่พอใจ ห้ามเอาช้อนเคาะจานเข้า ขณะรับประทานข้าว จะร้อนถึงแม่โพสพและทำให้ตกใจ
- ผีลานนวดข้าว หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนอ้ายแล้ว ชาวไทยทรงดำจะทำพิธีไหว้ลานนวดข้าว ใน
เดือนยี่หรือเดือนสาม อันเป็นเดือนที่จะทำการนวดข้าว
ผีประจำหมู่บ้าน
บางคนเรียกว่า “เสื้อเมือง” ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ที่ประกอบด้วยครัวเรือนหลาย ๆ หลังคาเรือน
จะมีศาลประจำหมู่บ้านของตนเอง และมีการเซ่นไหว้ในเดือนหก ขึ้น 1 ค่ำ จนถึง 6 ค่ำ และหลังจากเซ่นไหว้ศาลประจำหมู่บ้านแล้ว ก็จะห้ามเล่นลูกช่วง โดยเด็ดขาดเพราะจะถึงฤดูทำนาแล้ว
นอกจากนั้นเมื่อสมาชิกในหมู่บ้านตายลง สมาชิกอื่น ๆ ที่ขึ้นต่อศาลผีประจำหมู่บ้านเดียวกัน ต้อง
หยุดทำงานทุกชนิด แล้วไปช่วยงานบ้านสมาชิกผู้ตาย
ผีวัด
บุคคลที่ตายโหง หรือตายไม่ดี เช่นถูกยิง ถูกฟัน หรือถูกแทง และประสบอุบัติเหตุ ห้าม
นำเข้าบ้าน ให้นำไปไว้ที่วัด ห้ามเผาทันที ต้องฝังไว้จนคนลืม และห้ามเชิญวิญญาณมาเป็นผีบ้าน ผีเรือน
และผีนา แต่ให้เชิญไปเป็นผีประจำวัด
ผีอื่น ๆ เช่น ผีกระสือ ผีปอบ มีข้อห้ามเลือกคู่ครองที่มีเชื้อสายหรือเป็นผีกระสือ หรือผีปอบ
ในคำสอนกล่าวขณะเกิดพายุฝนอย่างแรงนั้น เป็นอำนาจที่ผีบันดาลให้เกิดเช่นนั้น ให้ใช้หัว
สากหันไปทางทิศที่เกิดพายุนั้น และซัดข้าวสารหรือเกลือไปด้วย หรือมิฉะนั้นก็ใช้มีดขัดร่องบนเรือนไว้ จะทำให้ลมพายุก่อนกำลังลง และผีจะทำอันตรายมิได้
นอกจากนั้นยังเชื่อว่า มีนางไม้รักษาอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ และมีผีนางตะเคียน จึงห้ามนำไม้ตะเคียนมา
ใช้ในการก่อสร้าง และมีข้อห้ามที่เกี่ยวกับผีอีกหลายประการ แต่ไม่กำหนดว่าเป็นผีประเภทใด เช่น
- ห้ามเล่นมีด เพราะว่าผีจะผลัก
- ห้ามนอนใต้ขื่อ ผีจะอำ
- ห้ามเล่นซ่อนหาเวลากลางคืน ผีจะลักซ่อน
- เวลาอาบน้ำแต่งตัวศพ ถ้าพันผ้าศพไม่ถูก ผีจะโกรธ
- เวลาไปบ้านคนตาย ผู้ชายให้ถือมีด ผู้หญิงให้เหน็บใบหนาดที่ผม กันผีมารบกวน
- ถ้าชายคนใดที่ภรรยาตายแล้ว จะมีภรรยาใหม่ ในวันแต่งงานจะต้องให้ภรรยาใหม่ใส่เสื้อกลับหลัง
เพื่อกันไม่ให้ผีภรรยาเข้ามารังควาน ดังนั้นจึงห้ามใส่เสื้อติดกระดุมข้างหลัง เพราะถือว่าเป็นเสื้อผี
- ผีที่เป็นสามีภรรยากัน ถ้าฝ่ายใดตายก่อน จะต้องเขียนหย่าไว้ในโลงศพ เพราะผีจะได้ไม่มารบกวน
- ถ้าฝันเห็นคนที่ตายไปแล้ว แสดงว่าผีมาขอส่วนบุญ
ความเชื่อในเรื่องของโชคลางของชาวไทยทรงดำ
ความเชื่อในเรื่องโชคลาง ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้คำจำกัด
ความของคำว่าโชคไว้ว่า “เคราะห์ คราวดี คราวร้าย โดยมากใช้ในทางดี” คำว่าลาง หมายถึง “เครื่องหมายที่ปรากฏให้เห็นอันบอกเหตุร้ายหรือดี” ดังนั้นคำว่าโชคลาง ก็น่าจะหมายถึงเครื่องหมายที่บอกให้รู้เหตุร้ายหรือดีอันอาจจะเกิดขึ้น ในวรรณกรรมของชาวไทยทรงดำ มีความเชื่อในเรื่องโชคลางปรากฏอยู่ในข้อห้ามคำสอนหลายประการ แบ่งเป็นประเภท ๆ ได้ดังนี้
1. ประเภทที่เกิดจากสัตว์
- จิ้งจกทักขณะลงจากเรือน ถือว่าไม่ดี ห้ามเดินทาง จะเกิดอุบาทว์
- ถ้ามีสัตว์โดยเฉพาะงูผ่านหรือตัดหน้าขณะเดินทาง ถือว่าไม่ดี ไม่ควรเดินทางถือว่าตัดลาภหรือไม่มีลาภ
- ถ้านกแสกเกาะหลังคาแล้วร้อง ถือว่าไม่ดี
- ถ้านกเค้าแมวเกาะหน้าต่าง ถือว่าคนในบ้านจะเป็นไข้ และอายุไม่ยืน
- ถ้าแร้งลงบ้าน จะเกิดอุบาทว์ ต้องแก้เคล็ดด้วยการตักบาตรทำบุญ และสวดมนต์เย็น
- ถ้านกแต่นแตบินร้องข้ามหลังคาไปทางทุ่ง จะมีคนเสียชีวิตในหมู่บ้านนั้น
2. ประเภทที่เกิดจากบุคคลและการกระทำ
- ตากินมิม หรือ กระเหม่นตา ทางซ้าย ญาติจะมาหา
- ตากินมิม หรือ กระเหม่นตา ทางขวา จะได้กินแกงเนื้อ
- ห้ามเผาผีในวันศุกร์ ถือว่าไม่ดี
- ห้ามลับมีด ฟันไม้ ตำข้าว เวลากลางคืน ถือว่าจะมีคนตาย
- ห้ามถ่มน้ำลาย หรือพูดว่าเหม็นศพ ถือว่าความเหม็นจะกลับมาสู่ตัวเรา
- กลับจากงานศพต้องทำความสะอาดร่างกาย ถ้าไม่ทำกลิ่นศพจะตามมา
- ห้ามผู้ท้าวขอพืชพันธุ์และสัตว์เลี้ยงของผู้น้อย เพราะจะทำให้สูญพันธุ์ และไม่งอกงาม
- คนมาข้างบ้าน หรือสัตว์มาผิดเรือน ต้องบอกผีเรือน มิฉะนั้น จะทำให้เจ็บไข้
- ห้ามข้ามแม่เตาไฟ จะทำให้เดือดร้อน
- ตำครกเปล่า ครกจะแตก ธรณีจะสูบ
- ร้องเพลงในครัว จะได้ผัวแก่
- กินของรับฝากไว้ จะทำให้เป็นคอพอก
- กินกล้วยแฝด จะทำให้มีลูกแฝด
- เด็กกินเครื่องในไก่ จะโง่
- ห้ามเอาช้อนเคาะชามเวลากินข้าว แม่โพสพจะไม่พอใจ
- ห้ามซ้อนชามเวลากินข้าว ถือว่าจะใช้หนี้สินไม่หมด เมียจะมีชู้
- ห้ามยิ้มเวลาปลูกข้าวโพด เมล็ดข้าวโพดจะห่าง
- ห้ามไกวเปลเปล่า เด็กจะกวน แม่ซื้อจะตกใจและหนีหาย
- ห้ามบิดผ้าอ้อม เด็กจะบิดตัว
- ห้ามเล่นมีด ผีจะผลัก
- ห้ามสระผมเวลาตะวันตกดิน ผีขวัญจะตกใจ เจ้าตัวจะเป็นทุกข์
- ห้ามนอนใต้ขื่อ ผีจะอำ
- ห้ามเล่นซ่อนหาเวลากลางคืน ผีจะลักซ่อน
- ห้ามใส่กางเกงร่วมกัน จะเกลียดกัน
- ห้ามใช้มีดฟันบันได จะเกิดอันตรายแก่ผู้กระทำ
- ห้ามสร้างบ้านคร่อมบ่อน้ำซึม บ่อทราย จะเจ็บไข้ ไม่มีความสุข
- ไม้อัปมงคล ห้ามนำมาปลูกบ้าน จะเดือดร้อน
- ห้ามเลือกผู้ชายเที่ยว กินเหล้า เล่นการพนัน จะทำให้ฉิบหาย
- ห้ามทำของแตก หรือทะเลาะกันในงานแต่งงาน จะทำให้อยู่กันไม่ยืด
- หญิงมีชู้ จะเกิดอัปรีย์ จัญไร
- เวลามีท้อง ถ้าแม่หน้าเกลี้ยง จะได้ลูกสาว ถ้าแม่หน้าเป็นฝ้า จะได้ลูกชาย
- เวลาท้องถ้าแม่ส่งของด้วยมือขวา จะได้ลูกชาย มือซ้ายจะได้ลูกสาว
- ก่อนจะคลอดบุตร ให้ถอดสร้อย แหวน ถือว่าจะคลอดง่าย
- ห้ามหญิงมีครรภ์ข้ามคราด เด็กเกิดมาจะตาเหล่
- ห้ามคนท้องกินของเผ็ดร้อน เด็กในท้องจะทรมานและตาย
- กลับจากไปฝังบั่งแห (กระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุรกของเด็กเกิดใหม่ไปฝังในป่า) ให้เก็บผักหักฟืนกลับมาบ้าน จะทำให้ลูกขยัน
- เวลาโกนผมไฟ ให้เอาใบตองห่อผมที่โกน เด็กจะไม่เจ็บไข้
3. ประเภทปรากฏการณ์ธรรมชาติและเหตุการณ์อื่น ๆ
- ถ้าเห็นดาวหาง บ้านเมืองจะเดือดร้อน เกิดศึก ข้าวจะยาก หมากจะแพง
- ถ้ามีรุ้งกินน้ำทางทิศตะวันตกเชื่อว่าฝนจะแล้ว ถ้าขึ้นทางทิศตะวันออกเชื่อว่าจะดี
- ถ้าฟ้าเหลือง มีก้อนเมฆเป็นควัน ๆ จะเกิดไฟไหม้ทางทิศนั้น
- ถ้าฟ้าแดง จะมีปลาทูขึ้นมาก
- ถ้าฝนตก พายุแรง เชื่อว่าผีมา เพราะฉะนั้นให้เอาข้าวสารหรือเกลือหว่านไปทางนั้น เพื่อไล่ให้ผีไป อีกวิธีหนึ่งใช้หัวสากหันไปทางทิศที่เกิดพายุฝน จะทำให้พายุอ่อนแรงลง
- ถ้ามดแดงคาบไข่จากรัง แสดงว่าฝนจะตก
4. ประเภททำนายลักษณะบุคคล
- คนแก้มบ๋อง (มีลักยิ้มที่แก้ม) ถือว่าดี
- หญิงหน้าแล็นโง้ย (หน้าผากโหนก) อนาคตจะเป็นเศรษฐี
- หญิงคอปล้อง จะเป็นเจ้าทรัพย์
- ถ้ามีไฝที่ริมฝีปาก เป็นคนมีเสน่ห์ พูดเพราะ มีคนเชื่อถือ
- ถ้ามีคิ้วนูนคร่อมตา ถือว่าเป็นสตรีที่นำโชคลาภมาสู่สามี
- หญิงมีผมหยิกแดงและขมวดเป็นก้อนตรงหน้าผาก เป็นคนมีแง่มีงอน
- หญิงหน้าผากวัวเลีย สี่จัก ยักหล่ม ถือว่าเป็นหญิงขวงผัว ห้ามเลือกเป็นคู่ครอง
5. ประเภทฝันและทำนายฝัน
- ถ้าฝันว่าฟันหัก ลูกจะป่วยหรือเสียชีวิต
- ถ้าฝันว่าได้แหวน หญิงจะได้ลูก ชายจะได้เมีย
- ถ้าฝันเห็นคนกำลังเจ็บไข้แล้วหายเป็นปกติ คนนั้นจะตาย
- ถ้าฝันเห็นคนปกติตาย เราต่ออายุให้เขา
- ถ้าฝันเห็นพระสงฆ์ ทายว่าน้ำที่ศาลพระภูมิแห้ง จะต้องเติมน้ำ
- ถ้าฝันเห็นพระเจ้าอยู่หัว จะได้ลาภเงินทอง
- ถ้าฝันว่าขี้รดผ้า ทายว่าจะเสียเงินเสียทอง
- ถ้าฝันเห็นคนที่ตายไปแล้ว แสดงว่าคนตายนั้นมาขอส่วนบุญ
- ถ้าฝันว่าเหาะได้หรือหายตัวได้ แสดงว่าร่างกายแข็งแรงดี ไม่เจ็บไม่ไข้
- ถ้าฝันว่าไปตกปลา แสดงว่า ยังไม่ได้ใช้หนี้ใช้สิน
- ถ้าฝันว่ากินลูกไม้ หมายความว่า ท้องไส้ไม่ดี
- ถ้าฝันว่า ไฟไหม้เรือน จะทำให้เดือดร้อน
พิธีกรรมต่าง ๆ
พิธีกรรมที่สำคัญของชุมชนไทยทรงดำ ได้แก่
พิธีเสน
เป็นการเซ่นไหว้ผีเรือน ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษที่ได้เชิญมาไว้บนบ้าน และจัดให้อยู่ ณ มุมหนึ่งของของเสาบ้านในห้องนั้น เรียกว่า “กะล้อห่อง” เป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุก ๆ 10 วัน เรียกว่า ป้าดตง โดยมีแก้วน้ำ และชามข้าววางอยู่เป็นประจำ เดือนที่ยกเว้นการเสนได้แก่เดือนเก้า และเดือนสิบ เนื่องจากผีไปเฝ้าเถน ชาวลาวโซ่งเชื่อว่า เมื่อเซ่นผีเรือนแล้ว ผีจะคุ้มครองรักษาตนเองและครอบครัวให้มีความสุข และเจริญก้าวหน้า ลูกสาวป้าเรียมบอกว่า พิธีนี้จะไม่มีวันสูญหายไปจากชุมชนหมู่บ้านไทยทรงดำเด็ดขาด เพราะทุกคนมีความเชื่อในเรื่องนี้มาก และปฏิบัติสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น และจะยังคงอยู่ตลอดไป
พิธีขึ้นบ้านใหม่
เมื่อปลูกเรือนใหม่ก็จะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ มักทำเวลาบ่ายหลังจาก 15.00 น. ล่วงไปแล้ว หมอพิธีจะมาข่มขวง คือข่มสิ่งเลวร้าย ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปให้หมด ผีร้ายออกจากไม้ไปอยู่ที่อื่น แล้วจึงเอาผีขึ้นบ้าน คุณป้าหวันบอกว่าตอนที่หมอจะเรียกขึ้น จะมีหาบ ที่นอน หมอน มุ้ง สิ่งที่เป็นมงคลขึ้นมาไว้ในห้อง ของใช้จำเป็นห้ามขาด เช่น เงิน ทอง น้ำ เกลือ ไปไว้ในห้องผีเรือน
พิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงาน เรียกตามภาษาลาวโซ่งว่า “กินดอง” เมื่อหนุ่มสาวลาวโซ่ง รักใคร่ ตกลงใจที่
จะแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะส่งผู้ใหญ่ของตนไปทาบทาม และสู่ขอ ฝ่ายหญิงเป็นการหมั้นหมาย แล้วจึงนัดวันทำพิธีแต่งงานหรือกินดองกันต่อไป
การทำพิธีแต่งงาน จะเริ่มพิธีที่บ้านของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นเจ้าสาว โดยในวันกินดอง เจ้าบ่าวจะต้องทำพิธีไหว้ผีเรือน บ้านเจ้าสาว และกล่าวอาสาว่า ตกลงจะอยู่รับใช้ หรือช่วยทำงานให้กับครอบครัวของพ่อตาแม่ยาย ว่าเป็นเวลากี่ปีแล้วแต่จะตกลงกัน เพื่อให้ผีเรือนได้รับรู้ เนื่องจากเมื่อแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องออกจากผีเรือนของตน ไปนับถือผีทางฝ่ายชายซึ่งเป็นสามี และไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย เว้นเสียแต่ว่าเจ้าสาวจะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ก็อาจจะต้องตกลงกับฝ่ายชายให้มานับถือผีตามฝ่ายหญิง และมาอยู่กับฝ่ายหญิง เรียกว่า “อาสาขาด” ต่อจากนั้นเจ้าบ่าว จะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว นอกเหนือ ไปจากเงินสินสอดตามที่ตกลงกันไว้เงินจำนวนนี้เรียกว่า “เงินตามแม่โค” ซึ่งหมายถึง เงินค่าตัวของแม่ทางฝ่ายหญิงที่เคยได้รับเป็นค่าตัวเท่าใด ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น อาจเป็น ๑๐-๒๐ บาท ลูกสาวก็จะได้รับตามจำนวนเท่านั้น (เป็นธรรมเนียมของลาวโซ่งที่ปฏิบัติกันสืบต่อมา แม้ค่าของเงิน จะต่างกันก็ตาม) และหลังจากทำพิธีตามประเพณีลาวโซ่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพก็จะเลี้ยงแขกที่ไปช่วยงานตามธรรมเนียมทั่ว ๆ ไป
เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันชาวไทยทรงดำ นิยมประกอบพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมไทยทั่ว ๆ ไป ซึ่งคงจะสืบเนื่องมาจากความใกล้ชิดระหว่างคนไทยกับคนลาว จึงรับรูปแบบการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยมาใช้ หรือดัดแปลงใช้กับพิธีของตน เพื่อให้ทันสมัยนิยมและสะดวกยิ่งขึ้น อันส่งผลให้การประกอบพิธีกินดองตามแบบลาวโซ่งแท้ ๆ เริ่มจะสูญหายไป
พิธีศพ
เป็นอีกพิธีหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวลาวโซ่งมาแต่โบราณ เพราะนอกจากจะแสดงถึงความกตัญญู ต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่อาทิ ปู่ ย่า ตา ยาย แล้ว ยังเป็นพิธีที่กระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่คนในครอบครัวของผู้ตายอีกด้วย และแม้ปัจจุบัน จะจัดงานศพตามแบบไทยทั่วไปบ้างแล้วก็ตาม ทว่า เมื่อบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวตายลง ก็จะต้องกระทำตามประเพณีของลาวโซ่งอย่างเคร่งครัด ด้วยการเชิญหมอเสนมาเป็นผู้ประกอบพิธี โดยเริ่มตั้งแต่การเอาผีลงเรือน และการเอาผีขึ้นเรือน เป็นต้น
การเอาผีลงเรือน ตามประเพณีของลาวโซ่ง หากผู้ตายถึงแก่กรรมภายในบ้านเรือนและตั้งศพไว้ในบ้านก่อน จะเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธีต่อที่วัดนั้น เจ้าภาพจะต้องเชิญหมอเสนที่มาทำพิธีเรียกขวัญ หรือเรียกตามภาษาลาวโซ่งว่า “ช้อนขวัญ” คนในบ้านก่อน ด้วยเชื่อว่าสมาชิกในครอบครัวที่มีคนตายในบ้านจะโศกเศร้า หรือตกใจจนขวัญหาย จึงต้องเรียกขวัญไว้ให้อยู่กับตัว ไม่ติดตามผู้ตายไปที่อื่น “ การช้อนขวัญ” จะเริ่มด้วยหมอเสนถือสวิงสำหรับช้อนกุ้งหรือปลาเดินนำหน้าขบวน และทำท่าช้อนกุ้งหรือปลาไปรอบ ๆ บริเวณที่ตั้งโลงศพของผู้ตาย ตามด้วยเจ้าภาพซึ่งเป็นเจ้าบ้านเดินถือเสื้อผ้าของคนในบ้าน ๑ ชุด และญาติพี่น้องบุตรหลานทั้งหมดเดินตามหลังอีกทอดหนึ่ง หากญาติในครอบครัวคนใดคนหนึ่งไม่อาจร่วมพิธีได้ ให้หักเศษไม้เป็นรูปตะขอเล็ก ๆ ฝากใส่ไว้ในสวิงที่หมอเสนถือเป็นเครื่องหมายแทนตัวด้วย เมื่อหมอเสนและญาติ ๆ เดินวนรอบโลงศพผู้ตายครบ ๓ รอบแล้ว จะต้องเข้าไปในห้องผีเรือน เพื่อไหว้ผีเรือนให้ช่วยคุ้มครองอันตราย หรือเคราะห์ร้ายทั้งปวงให้หมดไปจากตัว และให้ขวัญของแต่ละคนกลับมาอยู่กับตนเองอย่างปลอดภัยโดยไม่ตกหล่นสูญหายหรือติดตามผู้ตายไปที่ใดทั้งสิ้น
หลังจากทำพิธีเรียกขวัญหรือช้อนขวัญ ของคนเป็นซึ่งเป็นญาติผู้ตายเรียบร้อยแล้ว จึงจะทำพิธีเคลื่อนย้ายหรือยกโลงศพลงจากเรือนไปประกอบพิธีที่วัดได้ โดยอาจจัดขบวนแห่ให้สวยงามเป็นเกียรติแก่ผู้ตายด้วยการจัดตบแต่งด้วยธง หรือขบวนตามธรรมเนียมของลาวโซ่งอย่างเคร่งครัด
การเอาผีขึ้นเรือน การเอาผีขึ้นเรือนของลาวโซ่งจะจัดทำเมื่อบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านตายเท่านั้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ตายมิให้วิญญาณของผู้ตายต้องร่อนเร่ แต่จะต้องเชื้อเชิญวิญญาณผู้ตายให้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วทั้งหมดในห้องผีเรือนที่เรียกว่า "กะล่อห่อง" เพื่อจะได้คุ้มครองบุตรหลานทุกคน
หมอเสน จะเป็นผู้กำหนดวันเอาผีขึ้นเรือน และเตรียมพิธีหลังจากเผาศพผู้ตายเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้น หมอเสนจะเก็บอัฐิของผู้ตายบรรจุโกศส่วนหนึ่ง เพื่อให้บุตรหลานนำไปบูชา ณ ห้องผีเรือน ส่วนอัฐิที่เหลือจะใส่ไหนำไปฝังยังสถานที่ที่เตรียมไว้ในป่าช้า และนำบ้านหลังเล็ก ๆ ทำด้วยตอกไม้ไผ่เรียกว่า "หอแก้ว" มาปลูกคร่อมบนบริเวณที่ฝังไหอัฐิไว้ หากผู้ตายเป็นชายกล่าวคือ บิดา ปู่ ตา จะตบแต่งหอแก้วให้สวยงามด้วยธงไม้ไผ่สูงประมาณ ๕ วา เรียกว่า “ลำกาว” พร้อมทั้งนำผ้าดิบสีขาวขลิบรอบ ๆ ขอบผ้าด้วยผ้าสีต่าง ๆ สลับกัน ๓ สีคือ แดง เหลือง ดำ ผูกติดกับยอดไม้ไผ่ให้มีความยาวพอเหมาะกับลำกาว ปลายยอดลำกาว หรือปลายไม้ไผ่ จะติดรูปหงส์ตัวเล็ก ๆ ทำด้วยไม้งิ้วแกะสลักอย่างงดงาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพาหนะพาผู้ตายกลับไปเมืองแถน หลังจากนั้นจะนำอาหารเช้ามาเซ่นไหว้ผู้ตายจนครบ ๓ วัน เมื่อครบกำหนด ๓ วันแล้วหมอเสนจะรื้อหอแก้วกับลำกาวทิ้งทั้งหมด ด้วยเชื่อว่าจะได้ไม่มีการตายเกิดขึ้นในครอบครัวนี้อีกและนัดแนะกำหนดวันเอาผีขึ้นเรือนตามความพร้อมของเจ้าภาพ
เมื่อถึงกำหนดวันเอาผีขึ้นเรือน หมอเสนจะเป็นผู้กล่าวคำเชื้อเชิญวิญญาณของผู้ตายเป็นภาษาลาวโซ่ง และทำพิธีเซ่นไหว้ในห้องผีเรือนตามประเพณีลาวโซ่ง โดยทำพิธีคล้ายกับการเสนเรือน ด้วยการจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ อาทิ เนื้อหมูดิบ ซี่โครงหมู ไส้หมู เนื้อหมูยำหน่อไม้ดอง ข้าวเหนียวนึ่ง หมากพลู บุหรี่ และเหล้าทั้งขวด บรรจุลงในปานเผือน (สำรับชุดใหญ่สุดสำหรับใส่อาหารคาวหวาน) และเริ่มด้วยหมอเสนจะเรียกพร้อมกับกล่าวเชิญวิญญาณของผู้ตาย ให้มารับอาหารที่จัดเตรียมไว้ก่อน แล้วจึงเชิญบรรพบุรุษ ตามลำดับรายชื่อที่จดไว้ในสมุดผีเรือน ให้มารับอาหาร จนครบหมดทุกชื่อ โดยเรียกชื่อครั้งหนึ่งก็ใช้ตะเกียบคีบอาหาร (หมูยำ) ทิ้งลงในที่จัดเตรียมไว้ทีละชิ้นเช่นกัน ครบแล้วจึงทำพิธีกู้เผือน ซึ่งก็คือการนำอาหารที่เหลือออกจากปานเผือนทั้งหมด เพื่อนำปานเผือนมาใช้เป็นเครื่องมือสู่ขวัญบุตรหลานของผู้ตายต่อไป
อนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีเอาผีขึ้นเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจำเป็นต้องทำพิธีสู่ขวัญหรือเรียกขวัญญาติ
พี่น้อง บุตรหลานในครอบครัวของผู้ตายต่อ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้อยู่หลังเนื่องจากเชื่อว่า ขณะมีคน
ตายในครอบครัว ญาติพี่น้อง บุตรหลานในครอบครัวจะโศกเศร้าและตกใจจนขวัญหายไปจากตัวเอง จึงต้องเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัวด้วยการทำพิธีสู่ขวัญหรือเรียกขวัญนั่นเอง และเป็นธรรมเนียมของลาวโซ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา กระทั่งเป็นประเพณีประการหนึ่งก็คือ หลังจากพิธีเอาผีขึ้นเรือนและสู่ขวัญ คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพกับบรรดาญาติพี่น้องจะต้องแสร้งทำเป็นโกรธเกรี้ยว พร้อมกับไล่ตะเพิดหมอเสนให้ออกไปให้พ้นจากบ้านเรือนของตนโดยเร็วไว เพื่อขับไล่ความทุกข์โศกตลอดจนเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปจากครอบครัวของตนพร้อมกับตัวหมอเสนด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนไทยทรงดำ
วิถีชีวิตของชุมชนไทยทรงดำได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างบ้านเรือนตามแบบไทยทรงดำเริ่มหายไป กลับกลายเป็นความทันสมัยเข้ามาแทนที่ ในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์รูปแบบไทยทรงดำไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เขาย้อย ไว้ให้ศึกษา ดูงาน และระลึกว่าครั้งหนึ่งในอดีตเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของลาวโซ่ง ความเจริญทางด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงได้แก่ 1. ถนนหนทาง ปัจจุบันมีถนนเข้าถึงหมู่บ้าน การเดินทางสะดวกขึ้น บ้านแต่ละหลังในชุมชนมีรถใช้เป็นส่วนใหญ่ บางแห่งเป็นถนนลาดยาง บางแห่งมีการสร้างถนนคอนกรีต บางแห่งยังเป็นถนนลูกรังอยู่บางช่วงเป็นหินคลุกหินเกร็ดและถนนดินลูกรังผสม 2. ระบบประปาหมู่บ้าน โดยการผลิตน้ำประปาจากคลองชลประทาน บางแห่งยังมีการใช้น้ำบาดาล และน้ำบ่อ 3. ไฟฟ้า มีใช้เกือบทุกหลังคาเรือน 4. โทรศัพท์ มีใช้แทบจะทุกหลังคาเรือน มีระบบการสื่อสารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งการสื่อสารด้วยโทรศัพท์บ้าน มีใช้อยู่หลายครอบครัวที่พอจะมีฐานะดีหน่อย และมีกิจการที่ต้องใช้การติดต่ออยู่ตลอดเวลาหรือมีธุรกิจติดต่อกันอยู่บ่อย ๆ ก็จะติดโทรศัพท์บ้าน แต่ถ้าชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งโทรศัพท์บ้าน ในชุมชนหมู่บ้าน ก็ยังมีโทรศัพท์สาธารณะ ตั้งอยู่บริเวณกลางชุมชนหมู่บ้าน ติดศาลาหมู่บ้านและร้านค้า นอกจากนั้นก็จะเป็นระบบโทรศัพท์มือถือที่มีใช้กันบ้างแต่ไม่มากนัก โดยเฉพาะโทรศัพท์แบบมือถือก็มีเสาเชื่อมโยงเครือข่าย GSM ของโทรศัพท์แบบมือถือ ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน จึงทำให้การสื่อสารของระบบมือถือก็เป็นไปด้วยความคล่องตัว 5. ร้านค้าในหมู่บ้านไทยทรงดำ เป็นชุมชนที่มีครัวเรือนอาศัยอยู่มากพอสมควร จึงทำให้การค้าขายเกิดขึ้นในชุมชน มีทั้งร้านค้าของชำ ร้านอาหาร ร้านมินิมาร์ท
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมและวัฒนธรรมจากความเป็นชุมชนไทยทรงดำ
หลังจากที่ความทันสมัยเข้ามาแทนที่ ทำให้สภาพทางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การแต่งกาย จะ เห็นได้ว่าการแต่งกายของชุมชนไทยทรงดำได้หายไป ปัจจุบันไม่มีการแต่งกายแบบไทยทรงดำแล้ว จะแต่งก็ต่อเมื่อมีการประจำปีประกวดชุดไทยทรงดำ หรือมีการแสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ลูกสาวคุณป้าเรียมบอกว่า ไม่คิดจะแต่งชุดไทยทรงดำแล้ว เนื่องจากไปทำงานในเมือง แม้แต่ทรงผมก็ไม่มีการเกล้าเหมือนแต่ก่อน โดยปกติชาวลาวโซ่งจะไม่มีการตัดผม แต่ในปัจจุบันกลับมีการทำทรงผมสมัยใหม่ ความทันสมัยมีอิทธิพลต่อการแต่งกายของชุมชนไทยทรงดำ ทำให้เลือนหายไป สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการอนุรักษ์ในรูปแบบทุนนิยม การเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการ เป็นเพียงให้ได้รู้ว่าในอดีตเคยมีหมู่บ้านไทยทรงดำ หากหมดรุ่นป้า ๆ ยาย ๆ เหล่านี้แล้ว ก็คงจะไม่ได้เห็นการแต่งกายแบบนี้อีก
การประกอบอาชีพ ที่เปลี่ยนแปลงไป คุณป้าแว่นบอกว่าแต่เดิมต้องตื่นแต่เช้าออกไปทำนา กว่าจะกลับจากนาก็ประมาณ 5 – 6 โมงเย็น วันไหนที่ว่างจากการทำนาก็จะต้องไปทำงานอื่น เช่น ทอผ้า ตักน้ำ ทำงานบ้าน คุณป้าหวันบอกว่า ต่อก่อนใช้วิธีการดำนา ปัจจุบันไม่ไหวแล้ว เนื่องจากค่าแรงแพง ต้องจ้างประมาณวันละ 200 บาท ใช้วิธีการหว่านนาดีกว่า นาหว่านจะได้เยอะกว่านาดำ และไม่ต้องจ่ายแพงด้วย สำหรับปุ๋ยที่ใช้ปัจจุบันใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีจะทำให้ต้นข้าวงามกว่า แต่ก็ทำให้ดินเสีย แต่ถ้าใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ ก็จะทำให้พืชไม่ค่อยงาม ผลผลิตน้อยกว่า แต่ทำให้ดินดีกว่า ที่หันมาใช้ปุ๋ยเคมีเนื่องจาก ปุ๋ยขี้วัวขี้ควายไม่มี เพราะหันมาใช้ควายเหล็กแทน เนื่องจากสามารถไถได้เร็วกว่าควาย ปัจจุบันคุณป้าไม่ได้ทำนาแล้ว เพราะอายุมากแล้วทำไม่ไหว ลูก ๆ ก็ไม่สนใจทำนา ส่วนใหญ่จะไปทำงานในเมืองมากกว่า ได้เงินดีกว่า ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนคุณลุง คุณป้า ดังนั้นเมื่อหมดรุ่นคุณป้าแล้วก็คงจะไม่มีใครทำนา คุณป้าหยอด บอกว่า คนที่มีนาก็ไว้ให้เขาเช่า คนที่เช่าก็เป็นคนรู้จักกัน ได้ค่าเช่าเป็นราคาข้าว 30 ถัง ได้เงินมาก็ไปซื้อข้าวกิน แต่ก่อนทำนาเองก็มีข้าวกัน แต่ไม่มีเงินใช้ บางคนก็ขายนาไปหมดแล้ว ไม่มีนา แต่มีเงิน และบางคนก็ใช้เงินหมดแล้วเช่นกัน ตกลงไม่มีทั้งนาและไม่มีทั้งเงิน
ขอขอบคุณ บุคคลต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่ให้ข้อมูล เกี่ยวกับหมู่บ้านไทยทรงดำ ได้แก่ คุณป้าหยอด คงสนิท อายุ 77 ปี คุณป้านาค อ่องเมือง อายุ 73 ปี คุณป้าลอย เสียงแก้ว อายุ 75 ปี คุณป้าแว่น แย้มเต่า อายุ 77 ปี
คุณป้าหวัน คงสนิท อายุ 74 ปี คุณป้าเสือ สืบอ่ำ อายุ 73 ปี
บรรณานุกรม
ที่มา : สุนันท์ อุดมเวช, ไทยทรงดำ ชนเผาไทยในเพชรบุรี. วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 ต.ค.- ธ.ค 2534. หน้า 54-55.
ที่มา : เรไร สืบสุข และคนอื่น ๆ. วรรณกรรมพื้นบ้านไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : วิทยาลัยครู, 2523. หน้า 43 - 56.
ที่มา : จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เขาย้อย, กรกฎาคม 2551.
http://gold.rajabhat.edu/rLocal/stories.php?story
ที่มา : www.homestayfanclub.com
ที่มา : www.samutsakhon.go.th
ที่มา : mit.rajabhat.edu/nongprong
วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553
วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)